?สอนลูกอย่างไรให้ตื่นตัวในภาวะวิกฤติ

วันนี้ (11 กุมภาพันธ์ 2563) แมงปอได้เข้าร่วมฟังเสวนาที่โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย โดยมีหัวข้อ เช่น Keep calm in critical situation, Run/Hide/Fight: What, When, and How? ข้อมูลหลายอย่างเป็นประโยชน์มากในสถานการณ์วิกฤติที่ไม่จำกัดแค่เหตุรุนแรงอย่างที่เพิ่งเกิดขึ้นเท่านั้น แต่สามารถประยุกต์ใช้ได้ในสถานการณ์อื่นที่อาจเป็นอันตราย แมงปอจึงสรุปข้อมูลบางส่วนที่น่าจะเป็นประโยชน์กับคุณพ่อคุณแม่และน้องๆมาค่ะ

จากหัวข้อ Run/Hide/Fight: What, When, and How? โดย รศ. นพ. รัฐพลี ภาคอรรถ คุณหมอเป็นศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญและมีลูกเล็กอายุ 4 ขวบ คุณหมอบอกว่าการสอนและฝึกให้เด็กๆมีการตื่นตัวและระวังอันตรายด้วยตัวเองเป็นเรื่องจำเป็น ตัวคุณพ่อคุณแม่เองก็ควรมีการตระหนักและรับรู้สถานการณ์รอบด้าน เช่น ไม่ใส่หูฟังเพื่อให้ได้ยินหากมีเสียงดังผิดปกติ ไม่เล่นโทรศัพท์มือถือเพื่อให้เห็นการเคลื่อนไหวหรือสัญญาณที่อาจเป็นอันตราย

สำหรับเด็กๆควรได้ฝึกให้รู้จักทางหนีภัยและแอบซ่อนโดยไม่ส่งเสียง เทคนิคง่ายๆ เช่น คุณพ่อคุณแม่อาจจะชวนน้องๆเล่นเกมหาป้าย exit กันในเวลาที่เดินเล่นในห้างสรรพสินค้า ทำให้น้องๆเกิดความตื่นตัว สามารถหาทางออกได้จนเกิดเป็นความเคยชินที่จะมองหาทางออกในสถานการณ์ต่างๆเสมอ

ในการฝึกแอบซ่อนนั้น คุณพ่อคุณแม่อาจเล่นเกมบทบาทสมมติ เช่น ถ้ามีโจรเข้ามาในบ้าน จะซ่อนแอบตรงไหน และแข่งกันเงียบไม่ส่งเสียงให้ได้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้

เทคนิคทั้งสองอย่างนี้คุณพ่อคุณแม่สามารถนำไปเล่นและฝึกฝนกับน้องๆ ซึ่งอาจจะใช้ได้ในหลายๆสถานการณ์ที่อาจเป็นอันตรายกับเด็กๆค่ะ

*บทความโดยครูแมงปอ ดร. พิมพนิต คอนดี

ผู้ก่อตั้งค่ายใต้ต้นไม้ จบปริญญาเอกด้านจิตวิทยาการปรึกษา (Counseling Psychology) โดยทำวิจัยเกี่ยวกับการใช้ศิลปะเป็นสื่อเพื่อดูแลจิตใจและสนใจการออกแบบกระบวนการเรียนรู้ผ่านการเล่นเพื่อเสริมพัฒนาการของเด็กในด้านต่างๆ

Share This Article!