📜เรียนรู้นอกห้องเรียนผ่านกิจกรรมล่าสมบัติ

“Outdoor Learning through Treasure Hunting”

บทความโดยครูปั๊ม

หากจะให้เล่าถึงกิจกรรมการล่าสมบัติ Treasure Hunt หรือ Scavenger Hunt แล้ว ฟังผิวเผินอาจจะฟังดูเหมือนเป็นกิจกรรมการเล่นของเด็กๆ มีเป้าหมายคือการสืบเสาะตามหาเบาะแสต่างๆที่ถูกซ่อนเอาไว้ให้พบ บ้างก็อาจจะเป็นการออกไปสะสมสติกเกอร์คล้ายๆกิจกรรม Rally ซึ่งเป็นกิจกรรมยอดนิยมทั้งในหมู่เด็กและผู้ใหญ่ แต่แท้จริงแล้วกิจกรรมยอดนิยมนี้มีองค์ประกอบที่สามารถออกแบบให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมากมาย

ถ้าคุณพ่อคุณแม่ได้อ่านบทความนี้แล้วเกิดความสนใจอยากไปทดลองเล่นกับบุตรหลาน การตามล่าหาสมบัติสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ไม่ว่าจะเป็นในห้องนอน ในบ้าน สนามหญ้า พื้นที่ภายในหมู่บ้าน หรือแม้แต่สวนสาธารณะ แนะนำเริ่มจากนำของเล็กๆน้อยๆไปซ่อน และให้คำใบ้น้องๆไม่ว่าจะเป็นในรูปแบบ รหัสลับ แผนที่ ตำแหน่งพิกัด ฯลฯ คอยช่วยให้คำใบ้เพิ่มเติมหากเบาะแสนั้นยากเกินไปสำหรับน้องๆ และค่อยๆเพิ่มระดับความซับซ้อนตามพัฒนาการของน้อง ขอให้สนุกกับการล่าสมบัตินะครับ!

ทักษะการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

สำหรับเด็กๆช่วงปฐมวัยนั้นทักษะการแก้ไขปัญหา หรือ Problems-Solving Skill นั้นถือได้ว่ามีความจำเป็นและมีส่วนช่วยในพัฒนาการและพัฒนากระบวนการเรียนรู้ของเด็กๆได้เป็นอย่างมาก ในกิจกรรมการล่าสมบัติ เด็กๆจะได้เจอกับอุปสรรคท้าทายความสามารถในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการตีความโจทย์เบาะแส การตามล่าหาสมบัติที่ถูกซ่อนอยู่ หรือแม้แต่การพยายามเก็บสมบัติที่แขวนอยู่บนยอดไม้สูงเกินเอื้อมถึงในเวลาที่จำกัด ประกอบกับความตื่นเต้นที่อยากรู้ว่าสมบัติจะเป็นอะไรและจะเจออะไรต่อไป ทำให้เด็กๆมีความพร้อมที่จะเรียนรู้ และเป็นจังหวะที่ดีสำหรับครูผู้สอนที่จะชี้แนะเด็กๆให้ประสบความสำเร็จในการแก้ปัญหานั้นด้วยความสามารถของเขาเอง นอกจากนี้หากเด็กๆสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ด้วยตนเองแล้วสิ่งที่จะเกิดตามมาคือความภาคภูมิใจและความมั่นใจที่จะช่วยส่งเสริมพัฒนาการและการเติบโตของเด็กๆ

ทักษะด้านตรรกะและการตีความ

เมื่อพูดถึงการล่าสมบัติ การหาเบาะแสถือเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องแก้ไขและตีความเพื่อไปให้ถึงสมบัติชิ้นสุดท้าย โดยอาศัยทักษะในด้านตรรกะที่เป็นทักษะที่สำคัญอย่างยิ่งในหมวดหมู่วิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์ กระบวนการล่าสมบัติจึงมีส่วนช่วยในการผลักดันให้เด็กๆได้ฝึกฝนและพัฒนาทักษะนี้ผ่านการเล่นได้เป็นอย่างดี

การได้ออกมาวิ่งเล่นในธรรมชาติ

ในศตวรรษที่ 20 เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทในชีวิตเด็กเป็นอย่างมากโดยเฉพาะเด็กๆในชุมชนเมือง ทำให้เด็กๆมีโอกาสน้อยมากที่จะได้ออกมาวิ่งเล่นในธรรมชาติ ซึ่งอาจทำให้ไม่คุ้นเคยกับพื้นที่ธรรมชาติที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก หากแต่เมื่อเด็กๆมีเป้าหมายที่ชัดเจน และสนุกไปกับกิจกรรมที่ทำอยู่ พวกเขาจะสามารถปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากมนุษย์เรานั้นเติบโตมากับธรรมชาติเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

ทักษะด้านมิติสัมพันธ์

ทักษะด้านมิติสัมพันธ์เป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากสำหรับพัฒนาการของเด็กในช่วงปฐมวัย ทักษะในด้านนี้ไม่ใช่จะมีประโยชน์เพียงในกลุ่มสาระวิชาศิลปะเท่านั้น ในหมวดหมู่วิชาคณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ไปจนถึงวิศวกรรมศาสตร์ต่างมีทักษะด้านมิติสัมพันธ์เป็นส่วนประกอบที่สำคัญทั้งนั้น

ในกิจกรรมล่าสมบัติ แผนที่ถือเป็นอุปกรณ์ชิ้นสำคัญเพื่อไปถึงจุดหมายสุดท้าย หากแต่การเชื่อมโยงแผนที่ 2 มิติ กับโลกความเป็นจริงไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับเด็กๆในช่วงปฐมวัย การที่เด็กๆในค่ายประสบความสำเร็จในการตามล่าหาสมบัตินั้นจึงสะท้อนให้เห็นถึงพัฒนาการทักษะในด้านมิติสัมพันธ์และการเชื่อมโยงภาพให้เด็กๆได้อย่างเป็นธรรมชาติ

ทักษะด้านสัมพันธภาพระหว่างบุคคล

กิจกรรมการล่าสมบัตินั้นส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือกันเป็นกลุ่ม เด็กๆแต่ละคนมีความถนัดที่ต่างกัน บางคนอาจจะถนัดด้านการปีนป่าย สามารถช่วยเหลือเพื่อนได้เมื่อเจอสมบัติซ่อนอยู่ในที่สูงยากจะเอื้อมถึง บางคนอาจจะถนัดด้านการตีความ สามารถแก้เบาะแสต่างๆออกได้อย่างง่ายดาย

บางคนอาจจะถนัดด้านการประดิษฐ์อุปกรณ์ช่วยเหลือ เป็นต้น ในกิจกรรมที่ซับซ้อนและท้าทายนั้น เด็กๆจะได้เรียนรู้ถึงการอยู่ร่วมกับผู้อื่น ช่วยเหลือเกื้อกูลเพื่อไปถึงจุดหมายปลายทางร่วมกัน

*บทความเขียนโดยครูปั๊ม

Co-Founder, Taitonmai

คุณครูนักออกแบบอุตสาหกรรมที่หลงใหลการผจญภัยและการประดิษฐ์ของเล่นเป็นชีวิตจิตใจ เคยร่วมวิจัยและศึกษาต่อชั้นปริญญาโท ที่ Kyoto Institute of Technology จึงมีความสนใจกระบวนการเรียนรู้ผ่านธรรมชาติและวิถีชีวิตในสไตล์ชาวญี่ปุ่น